ปี 2568 เป็นปีที่รัฐบาลเตรียมแผนกระตุ้นท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยผลักดันให้เป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism & Sport Year 2025 โดยจัดทำปฏิทินรวมกิจกรรมการท่องเที่ยวและมหกรรมกีฬาที่น่าสนใจ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยตั้งเป้าว่าปี 2568 นี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนโควิด) เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.54 ล้านคน สร้างรายได้รวม 2.57 ล้านล้านบาท
ท่ามกลางโมเมนตัมที่กำลังเหวี่ยงให้การท่องเที่ยวของไทยขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และคาดการณ์ว่าจะมีแรงเหวี่ยงที่แรงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปลายเดือนมกราคมนี้ แต่ปรากฏว่าแค่เริ่มต้นปีก็เจอเหตุการณ์นายหวัง ซิง หรือซิงซิง นักแสดงชาวจีนหายตัวไปบริเวณชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศไทย จึงนับเป็นความท้าทายอีกครั้ง
ไม่กระทบภาพรวม-คงเป้า 38 ล้านคน
“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงผลกระทบและบรรยากาศโดยรวมจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงแผนงานและทิศทางการทำตลาด เพื่อผลักดันทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
“ฐาปนีย์” บอกว่า ภาพรวมการท่องเที่ยว ณ ปัจจุบัน ททท.ยังเชื่อมั่นว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2568 นี้จะยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกรณี Best Case จำนวน 38 ล้านคน และจะพยายามขับเคลื่อนให้ได้ถึง 39 ล้านคน (เป้าหมายเชิงนโยบายของรัฐบาล 40 ล้านคน) และสร้างรายได้รวมที่ 2.8-3 ล้านล้านบาท
โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายคนไทยเที่ยวไทยจำนวน 200-220 ล้านคนครั้ง
ทั้งนี้ ททท.ยังคงเดินหน้าตามนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ทั้งพยายามเชื่อมโยงเมืองหลักสู่เมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว) ส่งเสริมเสน่ห์ไทยตามแนวคิด 5 Must do in Thailand การเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนให้เป็น One Destination การสนับสนุน World Event รวมถึงยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย
มั่นใจนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ถึงเป้า 8 ล้านคน
สำหรับตลาดจีนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสของนักแสดงนายหวัง ซิงนั้น พบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนหนึ่งยกเลิกการเดินทางจริง เพราะตลาดจีนอ่อนไหวกับกระแสบนสื่อโซเชียล โดยเฉพาะจากพื้นที่เมืองรองและนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเป็นครั้งแรก เพราะกลุ่มนี้ยังนึกภาพประเทศไทยไม่ออก แต่จำนวนที่เหลือเดินทางเข้ามายังเป็นจำนวนน่าพอใจ โดยอยู่ในระดับกว่า 20,000 คนต่อวัน และยังเป็นตลาดอันดับ 1 ต่อเนื่อง
และคาดว่าตลอดทั้งเดือนมกราคมนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 600,000 คน และมั่นใจว่าตลอดทั้งปี 2568 นี้ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาถึง 8 ล้านคนตามเป้าหมายที่วางไว้ (เป้าหมายเชิงนโยบายของรัฐบาล 8.8-9 ล้านคน)
“ยอมรับว่าประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ตลาดสะดุดไปบ้างเล็กน้อย แต่จากที่เรามอนิเตอร์กระแสบนสื่อออนไลน์ควบคู่กับการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจีนในทุกช่องทางต่อเนื่อง ทำให้ฝั่งจีนเข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน จึงมั่นใจจะสามารถบริหารจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้นได้”
บูม “อินเดีย-รัสเซีย-เกาหลี-ไต้หวัน-อาเซียน”
“ฐาปนีย์” บอกว่า แม้ว่า ททท.จะวางเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากจำนวน 6.7 ล้านคนในปี 2567 ที่ผ่านมาเป็น 8 ล้านคนในปีนี้ แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าปี 2562 ดังนั้นจึงต้องเร่งกระตุ้นตลาดที่เป็นตลาดดาวรุ่ง หรือตลาดใหญ่ที่มีจำนวนเกิน 1 ล้านคนเข้ามาเสริม โดยตลาดที่จะทุ่มโฟกัส 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย เกาหลี อาเซียน และไต้หวัน โดยมีเป้าหมายทำให้แต่ละตลาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%
กล่าวคือ อินเดีย ปีนี้มีเป้าเพิ่มจำนวนจาก 2 ล้านคนในปีที่ผ่านมา เป็น 2.5 ล้านคน รัสเซีย-เกาหลี มีเป้าเพิ่มจำนวนจาก 1.7-1.8 ล้านคน เป็นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ไต้หวัน มีเป้าเพิ่มจาก 1.08 ล้านคน เป็นประมาณ 1.2 ล้านคน
ส่วนตลาดอาเซียนปีที่ผ่านมามีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้ ททท.จะเร่งกระตุ้น 2 ตลาดหลักคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย
โดยมีเป้าหมายของตลาดมาเลเซียไม่ต่ำกว่า 5.5 ล้านคน จากจำนวน 4.95 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และมีแผนเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียผ่านเส้นทางรถไฟมากขึ้น เช่น เส้นทางจากด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ และเพิ่มเส้นทางบินใหม่จากเมืองยะโฮร์บาห์รู (ติดสิงคโปร์)-กรุงเทพฯ รวมถึงเพิ่มทางครุยส์และยอชต์ เส้นทางระหว่างเกาะลังกาวีสู่สตูล หลีเป๊ะ และเกาะลันตา (กระบี่)
“ตอนนี้สิงคโปร์เองก็ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ของการท่องเที่ยวเรือสำราญหรือครุยส์ พร้อมสนับสนุนเรื่องครุยส์เทอร์มินอลที่ภูเก็ตด้วย ซึ่งที่ผ่านมานายกฯแพทองธาร ชินวัตร ได้ลงไปติดตามความคืบหน้าแล้ว”
ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีจำนวนประชากรมาก แต่ที่ผ่านมายังเข้ามาเที่ยวไทยแค่ปีละประมาณ 4-5 แสนคนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาเพื่อฟื้นเที่ยวบินบินตรงระหว่างเมืองเมดาน (อินโดนีเซีย)-หาดใหญ่ (สงขลา) ให้กลับมาให้บริการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีแผนเร่งกระตุ้นตลาดที่ฐานยังเล็ก จำนวนนักท่องเที่ยวไม่มาก แต่มีอัตราการเติบโตที่สูงเข้ามาเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรปบางเมือง เป็นต้น
นำทัพธุรกิจไทยปั๊มยอดในงาน ITB Berlin มี.ค.นี้
ผู้ว่าการ ททท.ยังบอกอีกว่า เพื่อเป็นการเร่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทย ททท.มีแผนโหมโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศอย่างหนักในเวทีงาน ITB Berlin 2025 ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2568 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญของโลก
โดยปีนี้ ททท.ได้จองพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการของไทยขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม 500 ตารางเมตร เพิ่มเป็นขนาด 1,820 ตารางเมตร ภายใน Hall 26 Stand No.26 รองรับผู้ประกอบการไทยได้จำนวน 160 ราย (ขณะนี้สมัครเข้ามาแล้ว 135 ราย) เน้นนำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ผ่านแบรนด์ Amazing Thailand Grand Tourism & Sport Your 2025 ภายใต้แนวคิด Sustainable Thailand Soft Power ออกแบบพื้นที่ผ่านการสะท้อนเอกลักษณ์ไทยสู่เวทีโลก หรือ Local Meets Global
การจัดสรรพื้นที่ภายในคูหาประเทศไทยจะแบ่งพื้นที่เป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย พื้นที่เจรจาธุรกิจ พื้นที่จังหวัดและพันธมิตรต่าง ๆ พื้นที่เสน่ห์ไทย (Soft Power) พื้นที่เมืองน่าเที่ยว และพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism)
“ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราเปิดพื้นที่ที่เรียกว่า Opportunity Zone เป็นพื้นที่สำหรับเปิดโอกาสให้จังหวัดหรือผู้ประกอบการในเมืองรองที่มีความพร้อม แต่ยังไม่เคยได้เข้าร่วมงาน ITB ได้มีโอกาสออกไปประชาสัมพันธ์ตัวเองฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พื้นที่รองรับได้ประมาณ 15-20 ราย และคาดว่าจะมีเงินสะพัดระหว่างจัดงานราว 5,000-6,000 ล้านบาท”
ค้านเลิก Visa-Free ปัจจัยเสี่ยงคือสิ่งที่คาดไม่ได้
สำหรับประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกมาตรการ Visa Free สำหรับตลาดจีน หรือทบทวนเรื่องจำนวนวันของ Visa Free ใหม่ให้สอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละตลาด เช่น จีน เสนอให้เหลือ 15 วันนั้น “ฐาปนีย์” บอกว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเป็นมาตรการที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยว
แต่หากจะมีการทบทวนจำนวนวันที่ให้ Visa Free นั้นตนเห็นด้วย แต่ต้องพิจารณาให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวแต่ละตลาด เช่น นักท่องเที่ยวระยะใกล้อย่างจีน ซึ่งมีอัตราการพักเฉลี่ยประมาณ 7-10 วัน การปรับลด Visa Free ให้เหลือ 15 วันก็ไม่น่าจะกระทบ เป็นต้น
“สำหรับตลาดจีนการมีมาตรการวีซ่าฟรีทำให้ทำงานกับเมืองรองได้ง่ายขึ้น มีสายการบินใหม่ ๆ สนใจเปิดให้บริการมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เราคงนำมาเสนอและพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดของ ททท.ก่อน เพราะบอร์ด ททท. เรามีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศด้วย”
ผู้ว่าการ ททท.ยังย้ำด้วยว่า ประเด็นที่มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือที่น่ากังวลสำหรับปีนี้คือ ปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยพิบัติ ความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก โรคติดต่อ รวมถึงกระแสลบบนสื่อโซเชียลซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนอยู่เหนือการควบคุมทั้งสิ้น
หากปัจจัยเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จำนวน 38-39 ล้านคน และสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทได้ไม่ยาก
อ่านข่าวต้นฉบับ: ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ปั๊ม 5 ตลาดใหญ่ฝ่ามรสุมท่องเที่ยว